นอกจากอาการเหนื่อยง่ายและเจ็บหน้าอกแล้ว #อาการไอ เป็นอาการแสดงอีกอย่างหนึ่งที่บ่งบอกว่า ผู้ป่วยกำลังเป็นโรคระบบทางเดินหายใจ อาการไอเป็นอาการของโรคที่พบบ่อยที่สุด เป็นกลไกของร่างกายที่พยายามขับสิ่งแปลกปลอมที่อาจเป็นอันตรายต่อระบบทางเดินหายใจ รวมทั้งเชื้อโรค
.
ระยะเวลาไอการไออาจแบ่งตามระยะเวลาที่เป็น ได้แก่
+ ไอไม่ถึง 1 สัปดาห์เรียกว่า การไออย่างปัจจุบัน
+ ไอติดต่อกันนานเกิน 3 สัปดาห์เรียกว่า ไอเรื้อรัง
+ ไอแห้ง ๆ คือ ไม่มีเสมหะ ไอมีเสมหะออกมา และไอเป็นเลือด ซึ่งต้องดูว่าเป็นเลือดอย่างเดียวไม่มีเสมหะปน หรือมีเสมหะปนอยู่ด้วย
โรคที่เป็นสาเหตุการไอ
โรคที่เป็นสาเหตุทำให้เกิดอาการไอบ่อยอื่น ๆ ได้แก่ การอักเสบเรื้อรังในปอด เช่น วัณโรค หลอดลมอักเสบเป็นหนองเรื้อรัง (Bronchiectasis) ฝีในปอด และมะเร็งในปอด เป็นต้น แต่ผู้ป่วยกลุ่มนี้มักเอกซเรย์ปอดผิดปกติ
สำหรับโรคที่ทำให้เกิดการไอเรื้อรังและมีเอกซเรย์ปอดปกติ ที่พบบ่อยได้แก่
#โรคหอบหืด (Bronchial Asthma) ผู้ป่วยโรคหอบหืดโดยทั่วไปจะมีอาการไอ เหนื่อยง่าย และหายใจมีเสียงวี๊ด แต่ก็มีผู้ป่วยอีกจำนวนมากมีโรคหอบหืดชนิดที่ไม่รุนแรง บางรายไม่เคยมีอาการหืดจับหรือเหนื่อยง่ายเลย มีเพียงไอเรื้อรังเท่านั้น นอกจากนั้นผู้ป่วยพวกนี้ที่มีอาการหลอดลมอักเสบเรื้อรัง เป็นโรคหอบหืดที่มีหลอดลมตีบแบบไม่รุนแรงจึงไม่มีอาการหอบหืด
#ผู้ป่วยซึ่งเป็นโรคแพ้อากาศและมีจมูกอักเสบเรื้อรัง (Allergic Rhinitis) ผู้ป่วยพวกนี้จะมีอาการคัดจมูก น้ำมูกไหล และมีน้ำมูกไหลลงในคอเวลานอน (Postnasal Drip) ทำให้มีอาการไอเรื้อรัง ผู้ป่วยอาจมีไซนัสอักเสบ (Paranasal Sinusitis) ร่วมด้วย โดยที่สาเหตุของโรคเป็นภูมิแพ้เช่นกัน ดังนั้นเราจึงพบโรคนี้ร่วมกับโรคหอบหืดในผู้ป่วยคนเดียวกันได้บ่อย
#ผู้ป่วยที่มีกรดในกระเพาะและกรดไหลย้อนกลับเข้ามาในหลอดอาหาร (Gastro-Esophageal Reflux Disease หรือ GERD) ผู้ป่วยพวกนี้อาจมีไอเรื้อรังได้ รูปที่ 16 เป็นรูปวาดของระบบทางเดินอาหารส่วนบน อาหารผ่านปาก ลำคอ หลอดอาหารส่วนต้น (Esophagus) แล้วลงไปในกระเพาะอาหาร (Stomach) ตรงรอยต่อระหว่างหลอดอาหารส่วนต้นกับกระเพาะอาหารจะมีหูรูดปิดที่เรียกว่า Gastroesophageal Sphincter หรือ Lower Esophageal Sphincter ซึ่งจะกันไม่ให้อาหารและกรดในกระเพาะไหลย้อนกลับขึ้นไปได้
#ผู้ป่วยที่ทานยาบางชนิดที่ใช้รักษาโรคความดันสูงและโรคหัวใจ เช่น ยาพวก ACE Inhibitor อาจทำให้ผู้ป่วยที่ใช้ยานี้มีอาการไอเรื้อรังได้ พบได้ราว 2 – 14% ของผู้ใช้ อาการเกิดในราว 3 – 4 สัปดาห์หลังใช้ยา อาการไอมักเป็นแบบไอไม่มีเสมหะ เป็นมากในตอนกลางคืนและเวลานอนราบ อาการจะหายไปเมื่อหยุดยา ยาพวก Beta-Adrenergic Blocking Agent อาจทำให้เกิดการไอในผู้ป่วยที่มีหลอดลมอักเสบเรื้อรังและโรคหอบหืดโดยช่วยทำให้หลอดลมตีบลง
#ผู้ป่วยที่ใช้เสียงมาก ๆ เช่น ตะโกนมากและพักน้อย เช่น พวกพ่อค้าแม่ค้า หากหยุดพักไม่ใช้เสียง 2 – 3 วัน อาการจะดีขึ้น
#ผู้ที่ไอหรือกระแอมโดยที่ไม่มีโรค เรียก Psychogenic หรือ Habit Cough การวินิจฉัยมักไม่พบว่ามีสาเหตุของการไออื่น สันนิษฐานว่าน่าจะมีสาเหตุมาจากจิตใจ มีคนเป็นแบบนี้จำนวนมาก
ขอบคุณที่มา : โรงพยาบาลกรุงเทพ
Leave A Comment