พาย้อนดูเส้นทางก๊าซธรรมชาติเหลว LNG ตั้งแต่แหล่งที่ขุดพบจนถึงการนำไปใช้ พลังงานสำคัญของคนไทย กับประโยชน์มากมายที่คุณอาจไม่เคยรู้
“ก๊าซธรรมชาติ” ฟังดูเหมือนจะเป็นเรื่องไกลตัว แต่จริง ๆ แล้วสิ่งนี้อยู่ใกล้ตัวและมีความสำคัญในชีวิตประจำวันของเราไม่น้อย ซึ่งในประเทศไทยก็ได้นำประโยชน์จากก๊าซธรรมชาติมาผ่านกระบวนการ เพื่อนำไปใช้งานในรูปแบบต่าง ๆ มากมาย อาทิ ก๊าซ NGV, LPG และ LNG ซึ่งสามารถนำไปใช้ในการผลิตไฟฟ้า เป็นเชื้อเพลิงในรถยนต์ นำไปผลิตเม็ดพลาสติก แม้แต่ดรายไอซ์ หรือน้ำแข็งแห้ง ก็ล้วนมาจากก๊าซธรรมชาติทั้งสิ้น อย่างไรก็ตาม วันนี้เราจะพาไปทำความรู้จักกับ LNG หรือก๊าซธรรมชาติเหลวมากประโยชน์ ที่หลายคนอาจไม่ค่อยคุ้นหูนัก ว่ามีที่มาที่ไปอย่างไร และนำไปทำอะไรได้บ้าง ตามไปดูกันเลย…


การเดินทางของ LNG จากแหล่งผลิตสู่ปลายทาง
1. ขุดเจาะก๊าซธรรมชาติจากแหล่งผลิต
ก๊าซธรรมชาติเป็นพลังงานฟอสซิลที่ถูกค้นพบได้ในแอ่งใต้พื้นดิน บนบก ในทะเล หรืออาจพบร่วมกับน้ำมันดิบ เมื่อขุดเจาะขึ้นมาแล้วจะยังไม่สามารถใช้ประโยชน์ได้ทันที

2. แปรสภาพก๊าซเป็นของเหลว
ผ่านกระบวนการคัดแยกสิ่งแปลกปลอมและองค์ประกอบต่าง ๆ แล้วลดอุณหภูมิลงให้เหลือ -160 องศาเซลเซียส เพื่อลดปริมาตรและแปรสภาพให้กลายเป็นของเหลว ก่อนบรรจุใส่ถังลงในเรือขนาดใหญ่ เพื่อขนส่งต่อไป

3. การขนส่งก๊าซเหลว
หลังจากที่ก๊าซได้เปลี่ยนสถานะเป็นของเหลวแล้ว ก็พร้อมที่จะถ่ายลงเรือขนาดใหญ่ที่ออกแบบมาพิเศษ มีถังบรรจุก๊าซธรรมชาติเหลว ซึ่งมีคุณสมบัติกันความร้อนได้ดี และมีระบบจัดการกับก๊าซส่วนเกินเพื่อรักษาความดันและอุณหภูมิให้คงสถานะของเหลวไว้ตลอดทางได้ ซึ่งเรือที่ใช้ขนส่งมี 3 ประเภทด้วยกัน คือ เมมเบรน (Membrane Type) มอสส์ (Moss Type) และเอสพีบี (Self Supporting Prismatic Shape IMO type B – SPB)

4. จัดเก็บที่ปลายทาง
เมื่อถึงท่าเรือรับก๊าซ (LNG Receiving Terminal) ก๊าซธรรมชาติเหลวก็จะถูกถ่ายจากเรือสู่ถังกักเก็บ แล้วส่งเข้าสู่กระบวนการแปรสภาพกลับเป็นก๊าซอีกครั้ง โดยการถ่ายเทความร้อนจากการผ่านท่อน้ำทะเล ก่อนส่งไปยังผู้ใช้ในภาคอุตสาหกรรมต่าง ๆ ต่อไป เช่น ผลิตไฟฟ้า โรงงานอุตสาหกรรม รวมถึงสถานีบริการ NGV ด้วย

ขอบคุณที่มา : สำนักงานปลัดกระทรวงพลังงาน/ สำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน