พลังงานสะอาดมาแร๊งง ไปดูแผนผลิตไฟฟ้าไทยใน 20 ปีกัน!!
ภาพร่างแห่งอนาคตที่ไม่ใกล้ไม่ไกลนักจะเป็นเช่นไร สิ่งที่พวกเราพยายามทำกันมา รณรงค์ ให้ความรู้ แบ่งปันประสบการณ์ ขอความร่วมมือ และให้ความร่วมมือ สิ่งเหล่านั้นจะไม่เป็นเพียงความว่างเปล่าในอนาคต ภาครัฐเห็นด้วยกับการใช้พลังงานสะอาดที่เรายึดถือเป็นพลังงานแห่งอนาคตหรือไม่ วันนี้เรามาผ่าแผนพลังงานไฟฟ้าของภาครัฐดูกัน


.
ในปัจจุบัน พลังงานที่หล่อเลี้ยงประเทศไทยส่วนใหญ่นั้น มาจากก๊าซธรรมชาติถึง 57% ลิกไนต์/ถ่านหิน 17% และนำเข้าถึง 12% การผลิตไฟฟ้าจากโรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียน อาทิ โซล่าร์เซลล์ พลังงานลม นั้นมีสัดส่วนเพียงแค่ 10% เท่านั้นเอง แต่ในแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าฉบับใหม่ กฟผ. หรือการไฟฟ้าฝ่ายผลิต ได้วางเป้าหมายไว้ว่าจะลดการใช้งาน ลิกไนต์/ถ่านหิน ก๊าซธรรมชาติ และการซื้อไฟฟ้าจากประเทศเพื่อนบ้านลง แต่เพิ่มโรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนให้มากขึ้น ดันสัดส่วนของพลังงานหมุนเวียนไปที่ 18% แต่หากนับรวมพลังงานสะอาดอื่นๆ เข้าไปด้วย เช่น พลังงานน้ำ พลังงานชีวมวล พลังงานขยะชุมชน ตัวเลขจะพุ่งสูงขึ้นไปถึง 35% เลยทีเดียว โดยที่สัดส่วนของก๊าซธรรมชาติ ลิกไนต์/ถ่านหิน และการซื้อพลังงาน จะเหลือสัดส่วน 53%, 12% และ 9% ตามลำดับ


“นั่นพิสูจน์ให้เห็นว่า ทาง กฟผ. ก็เอาด้วยกับพลังงานสะอาด ที่กำลังจะกลายมาเป็นกระแสหลักของโลกยุคใหม่ในอนาคต หลักฐานคือการผลักดันพลังงานสะอาดขึ้นจาก 10% ไปสู่ 35% นั่นเอง”
เนื่องจากสัดส่วนที่ลดลงของการใช้ ลิกไนต์/ถ่านหิน และก๊าซธรรมชาติอย่างมากนั้น จะส่งผลให้สามารถลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ได้มากขึ้น ซึ่งแผน PDP2018 ยังแสดงเป้าหมายที่จะลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกลงถึง 25-30% ภายในปี พ.ศ. 2573 เลยทีเดียว

นี่คือภาพรวมของพลังงานไทยในอนาคต ที่วางแผนยาวไปถึงทศวรรษที่ 80 ซึ่งมีความเกี่ยวข้องกับการลดการใช้ทรัพยากร ลดการปล่อยมลพิษ และเป็นมิตรกับธรรมชาติและชุมชนมากยิ่งขึ้น นั่นจะทำให้โลกของเราน่าอยู่มากขึ้น แม้ไม่ได้เกิดขึ้นอย่างปุบปับ แต่มันจะเกิดขึ้นอย่างมั่นคงและยั่งยืนได้

ขอขอบคุณเนื้อหา : greenery
#เพื่อนชุมชน_บ้านเราน่าอยู่สังคมยั่งยืน”