5 โรคฤดูร้อน ที่ควรระวัง!!
วันที่ 9 มีนาคม 2565 กรมควบคุมโรค รายงานว่า นายแพทย์โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า ขณะนี้ประเทศไทยเข้าสู่ฤดูร้อนแล้ว ซึ่งประชาชนอาจเจ็บป่วยจากอากาศร้อนได้ กรมควบคุมโรค จึงออกประกาศกรมควบคุมโรค เรื่อง การป้องกันโรคและภัยสุขภาพที่เกิดในช่วงฤดูร้อนของประเทศไทย ลงวันที่ 1 มีนาคม 2565 เพื่อให้ประชาชนดูแลสุขภาพอนามัยของตนเองได้อย่างถูกต้อง
.
โรคติดต่อทางเดินอาหารและน้ำ แบ่งเป็น 5 โรค ได้แก่

1) #โรคอุจจาระร่วง เกิดจากการรับประทานอาหารหรือน้ำที่ปนเปื้อนเชื้อโรค พบได้ในทุกกลุ่มวัย ผู้ป่วยจะถ่ายเหลว อาเจียน ส่วนใหญ่มักหายได้เอง

2) #ไข้ไทฟอยด์หรือไข้รากสาดน้อย เกิดจากการได้รับเชื้อแบคทีเรียที่ปนเปื้อนมากับอุจจาระหรือปัสสาวะของผู้ป่วย ผู้ป่วยจะมีอาการไข้สูงลอยมากกว่า 1 สัปดาห์ ปวดศีรษะ ปวดท้อง ท้องอืดหรือท้องผูก หรือมีผื่นขึ้นตามลำตัว

3) #โรคอาหารเป็นพิษ เกิดจากการรับประทานอาหารหรือน้ำที่ปนเปื้อนสารพิษหรือสารเคมี มักพบในพืชและสัตว์ เช่น เห็ด และอาหารทะเลต่าง ๆ อาการป่วยจะขึ้นอยู่กับชนิดและปริมาณของสารพิษที่ได้รับ ผู้ป่วยที่มีอาการเล็กน้อยจะหายได้เองภายใน 24-48 ชั่วโมง ส่วนผู้ป่วยที่มีอาการรุนแรง อาจอาเจียนและท้องเสียจนร่างกายขาดน้ำและเกลือแร่อย่างรุนแรงได้

4) #โรคอหิวาตกโรค ติดต่อโดยการรับประทานอาหารหรือน้ำที่มีเชื้ออหิวาตกโรคปะปนอยู่ ส่วนใหญ่มีอาการถ่ายเหลวเป็นน้ำ คลื่นไส้อาเจียน

5) #โรคไวรัสตับอักเสบเอ เกิดจากเชื้อไวรัสตับอักเสบชนิด เอ ติดต่อโดยการรับประทานอาหารและน้ำที่ปนเปื้อนเชื้อ การใช้เข็มฉีดยาและการมีเพศสัมพันธ์กับผู้ที่ติดเชื้อ ทำให้เกิดการอักเสบแบบเฉียบพลันของตับ อาการของโรคนี้มีตั้งแต่ไม่แสดงอาการ หรือมีอาการอักเสบเล็กน้อยถึงขั้นตับอักเสบรุนแรง โดยทั่วไปจะมีไข้อ่อน ๆ เหนื่อยล้า ปวดหัว ท้องผูก ปวดบริเวณท้องขวาบน ปวดตามกล้ามเนื้อและข้อ ปัสสาวะสีเข้ม ตาและตัวเหลือง และสามารถหายขาดได้

สำหรับแนวทางการป้องกันโรคทางเดินอาหารและน้ำ ได้แก่ การยึดหลัก “กินร้อน ช้อนกลางส่วนตัว ล้างมือ” กินร้อน คือ กินอาหารที่ปรุงสุกใหม่ ๆ ช้อนกลางส่วนตัว คือ ช้อนที่มีไว้ตักกับข้าวใส่จานตัวเองและใช้คนเดียว ล้างมือ คือ การล้างมือ ให้สะอาดด้วยน้ำและสบู่หรือแอลกอฮอลล์ทุกครั้งก่อนและหลังการประกอบอาหาร รับประทานอาหาร และหลังเข้าห้องน้ำ นอกจากนี้ ต้องดื่มน้ำที่สะอาด น้ำต้มสุก หรือน้ำที่บรรจุในขวดที่มีฝาปิดสนิท

ขอบคุณที่มา กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข