ในสถานการณ์ช่วงนี้ ปฏิเสธไม่ได้เลยว่าหลาย ๆ คน เผชิญอยู่กับความไม่แน่นอน ทั้งความไม่แน่นอนเกี่ยวกับการติดเชื้อ การป้องกันรักษา สถานะการทำงาน หรือแม้แต่ความไม่แน่นอนทางสภาพทางเศรษฐกิจ ความไม่แน่นอนเหล่านี้ เป็นสิ่งกระตุ้นอย่างดี ที่ทำให้เกิดความกลัว ความวิตกกังวล และส่งผลต่อสุขภาพกายและจิตใจ จนทำให้เกิดความเครียดสะสมได้
1. ติดตามข่าวสารเท่าที่จำเป็น
คุณอาจจะตรวจสอบข่าวสารวันละครั้งก็เพียงพอ ลดการเสพโซเชียลมีเดีย หรือปิดการแจ้งเตือนข่าวสารบางประเภท ที่สร้างความกังวล และระมัดระวังข่าวปลอม จะช่วยให้คุณได้รับข้อมูลที่เป็นประโยชน์และมีความจำเป็นจริง ๆ เท่านั้น
2. เลือกรับข่าวสารจากแหล่งที่เชื่อถือได้เท่านั้น
คุณอาจจำกัดเวลาการรับข่าวสารในแต่ละวัน และต้องเลือกจากแหล่งข่าวที่เชื่อถือได้ เช่น คำแนะนำจากแพทย์ บทความต่าง ๆ จากแพทย์ โรงพยาบาล หน่วยงานภาครัฐหรือหน่วยงานด้านสาธารณสุข เป็นต้น
3. ดูแลรักษาสุขภาพกายและใจให้ปกติ
พยายามใช้ชีวิตอย่างปกติและมีคุณค่า เพราะความเครียด อาจทำให้เกิดภาวะท้อถอย หมดหวัง นำไปสู่การตัดสินใจผิดพลาดได้ง่าย คำแนะนำเบื้องต้นคือ ระหว่างนี้ไม่ควรมีการตัดสินใจในเรื่องใหญ่ ๆ ทั้งสิ้น หากมีปัญหาพยายามประคับประคองให้ผ่านสถานการณ์ไปให้ได้ ควรให้ความสำคัญกับการดูแลสุขภาพตัวเองให้หาเวลาออกกำลังกาย ยืดกล้ามเนื้อ นั่งสมาธิ นอนพักผ่อนให้เพียงพอ รับประทานอาหารที่มีประโยชน์
4. อย่าขาดการติดต่อจากคนอื่น
การติดต่อพูดคุยกับครอบครัวหรือเพื่อนเป็นระยะ ๆ เช่น การโทรหากัน วีดีโอคอล หรือการแชทผ่านข้อความ การพูดคุยปรึกษาหารือกันหรือแชร์ความรู้สึกต่อกัน (ventilate) เป็นการไม่ทำให้รู้สึกว่าตัวเองโดดเดี่ยว นอกจากเป็นการแบ่งปันข่าวสารซึ่งกันและกัน ยังเป็นการให้กำลังใจต่อกันด้วย
5. หากิจกรรมทำอย่าปล่อยให้ว่าง
แม้หลาย ๆ คนจะ Work From Home ก็ควรทำตัวเหมือนปกติ และเมื่อเสร็จจากการทำงาน ก็พยายามอย่าปล่อยให้ตัวเองว่าง ควรหาเวลาผ่อนคลายบ้าง เช่น ฝึกทำอาหาร ออกกำลังกาย นั่งสมาธิ ฟังเพลง วาดรูป อ่านหนังสือ เป็นต้น
6. การรับแสงแดดอย่างเหมาะสม
การอยู่แต่ในบ้านหรือในห้อง อาจทำให้หลายคนได้รับแสงแดดที่ไม่เพียงพอ ทำให้ฮอร์โมนและวิตามินในร่างกายเปลี่ยนแปลงไป ซึ่งอาจไปรบกวนนาฬิกาชีวภาพ (Circadian rhythm) เช่น การไม่ได้รับแสงแดดกระตุ้นการตื่นตัวของร่างกาย จะทำให้เมลาโทนินหลั่งช้าและมีระดับที่ไม่เพียงพอ ส่งผลให้เกิดปัญหาการนอนหลับ ความจำ และความสามารถในการเรียนรู้ นอกจากนี้ เมลาโทนิน ยังมีบทบาทสำคัญต่อระบบภูมิคุ้มกันที่เกี่ยวข้องกับการทำงานของเม็ดเลือดขาวและเซลล์เพชฌฆาต (NK Cell) รวมถึงมีบทบาทในการต่อต้านการทำงานของสารอนุมูลอิสระ ต้านความเสื่อมของเซลล์อีกด้วย
การได้รับแสงแดดที่ไม่เพียงพอ ยังส่งผลต่อระดับวิตามินดี ที่กระตุ้นเอนไซม์สังเคราะห์สารสื่อประสาท ซึ่งเกี่ยวกับความเครียดและภาวะซึมเศร้า ดังนั้นหากใครอยู่บ้านที่มีบริเวณ ควรมีการออกมาเดินรับแสงแดดในยามเช้า หรือผู้ที่อยู่คอนโด อาจมีการเปิดหน้าต่างหรือรับแดดจากระเบียงห้อง
โดยแสงแดดที่เหมาะสมต่อการสัมผัส ควรเป็นแดดยามเช้าก่อน 9.00 น. หรือยามเย็นหลัง 16.00 น. ประมาณ 5-15 นาทีต่อวัน เพื่อให้ร่างกายมีระดับวิตามินและฮอร์โมนที่เหมาะสม คงคุณภาพการนอน ลดความเครียด เสริมสร้างการทำงานของระบบภูมิคุ้มกัน ทำให้ร่างกายได้ทำงานอย่างมีประสิทธิภาพ
Leave A Comment