ในโลกของการทำ #ธุรกิจ คนส่วนใหญ่ก็สนใจอยู่เพียงเรื่องของผลกำไร จะทำอย่างไรให้สินค้าขายได้และลดต้นทุนการผลิตให้ได้มากที่สุด จนบางครั้งหลายธุรกิจใหญ่ ๆ ส่งผลกระทบไปยังสิ่งแวดล้อม จากตัดไม้ทำลายป่าเพื่อทำการขยายโรงงาน การใช้พลังงานที่เป็นผลร้ายกับโลก เช่น ถ่านหิน หรือการปล่อยแก๊สเรือนกระจก จนทำให้โลกเข้าสู่สภาวะโลกร้อน จากเหตุการณ์เหล่านี้ก็มีกลุ่มคนที่สร้างแนวคิดใหม่ที่อยากทำธุรกิจที่เป็นนวัตกรรมบวก เพื่อสังคมและสิ่งแวดล้อมมากกว่าที่สนใจในเรื่องของตัวเลขกำไร ขาดทุนเพียงอย่างเดียว และยิ่งในปัจจุบันที่โลกของเราประสบปัญหากับภัยธรรมชาติ เช่น โลกร้อน เกิดโรคระบาด หรือการขาดแคลนอาหารจากประชากรที่เพิ่มสูงขึ้นทุกวัน
.
ทำให้เทรนด์ของธุรกิจในตอนนี้หลายคนสนใจในเรื่องสิ่งแวดล้อมมากยิ่งขึ้น และผู้คนก็ยอมจ่ายเงินลงทุนในธุรกิจแบบนี้มากขึ้น เพื่อหวังว่าจะช่วยให้โลกของเราน่าอยู่ขึ้นกว่าเดิม จากกระแสเหล่านี้ทำให้มีธุรกิจใหม่ ๆ ที่เกิดขึ้นมาเพื่อพัฒนาสิ่งแวดล้อมไปสู่ความยั่งยืน
1. #Tesla (ธุรกิจพลังงานไฟฟ้า)
ในนาทีนี้คงไม่มีใครไม่เคยได้ยินชื่อของ Elon Musk มหาเศรษฐียอดอัจฉริยะที่เป็นคนพลิกโฉมนวัตกรรมรถยนต์ที่ใช้พลังงานไฟฟ้าให้เกิดขึ้นได้จริง เพราะเขาเชื่อว่ารถพลังงานไฟฟ้าจะช่วยลดการปล่อยมลพิษที่เกิดจากการเผาไหม้ จากรถที่ขับเคลื่อนด้วยพลังน้ำมัน เพราะปัญหามลพิษ เช่น ฝุ่น PM 2.5 แก๊สเรือนกระจกมักเกิดจากการเผาไหม้ของเครื่องยนต์แบบเก่า จากเหตุผลนี้เองทำให้ Tesla เอาจริงกับการสร้างรถยนต์ที่ใช้แค่พลังงานไฟฟ้าเพียงอย่างเดียว และเมื่อรถยนต์รุ่นแรกของ Tesla วางจำหน่ายในประเทศสหรัฐฯ ทำให้มีคนสนใจจำนวนมากทั้งในส่วนของผู้บริโภค และกลุ่มนักลงทุน รายใหญ่ และรายย่อยธุรกิจประเภทนี้ เพื่อช่วยลดปัญหามลพิษ และนอกจากนี้ผลิตภัณฑ์ในเครือของ Tesla ไม่ได้มีเพียงแค่รถยนต์เพียงเท่านั้นยังมีธุรกิจพลังงานแสงอาทิตย์ที่ชื่อว่า SolarCity ที่ทำธุรกิจแผงโซลาเซลล์ในราคาย่อมเยา เพื่อลดปัญหาการขาดแคลนพลังงาน และช่วยลดการผลิตพลังงานจากการใช้ฟอสซิลที่ใกล้จะหมดลงทุกที สำหรับธุรกิจพลังงานไฟฟ้าอาจเป็นธุรกิจมาแรงในปีนี้ ที่จะเปลี่ยนแปลงการใช้พฤติกรรมการใช้พลังงานของผู้คนทั้งโลกได้เลย
2. #Freitag (ธุรกิจแฟชั่นรีไซเคิล)
เป็นเวลากว่า 28 ปีที่ Freitag แบรนด์แฟชั่นสุดเท่ ได้โลดแล่นออกสินค้าให้ผู้คนได้เลือกซื้อ โดยมีจุดกำเนิดจากสองพี่น้อง Danial และ Markus Freitag ที่มีไอเดียง่าย ๆ จากการปั่นจักรยานไปทำงานในวันที่ฝนตก แล้วได้เห็นรถบรรทุกที่คลุมผ้าใบว่าทำไมไม่มีกระเป๋าแบรนด์ไหนทำแบบนี้เพื่อป้องกันน้ำฝนบ้างเลย จากไอเดียนี้จนทำให้สองพี่น้อง ตระกูล Freitag อยากทำกระเป๋าใช้เอง จึงได้หยิบผ้าใบรถบรรทุก สายคาดเข็มขัดนิรภัยรถที่ใช้แล้ว และสายยางในของจักรยานเก่า ๆ มาสร้างเป็นกระเป๋าใช้งาน จนมีผู้คนให้ความสนใจกระเป๋าของพวกเขามากขึ้น จนสองพี่น้องผันตัวมาทำธุรกิจแฟชั่นนี้ที่ยั่งยืนในเรื่องของความทนทานในการใช้งาน และดีไซน์ที่ไม่มีวันหมดอายุ ทั้งยังช่วยสิ่งแวดล้อม เพราะไม่ต้องผลิตวัตถุดิบขึ้นมาใหม่ แต่ใช้การรับซื้อวัตถุดิบที่ใช้แล้ว
ของมือสองมาสร้างสรรค์ผลงาน ในปัจจุบันสินค้าของ Freitag มีจำนวนมากมายทั้งสินค้าประเภทกระเป๋าในรูปทรงต่าง ๆ เพื่อตอบสนองไลฟ์สไตล์ที่แตกต่าง และสิ่งหนึ่งที่ทำให้แบรนด์ Freitag ครองอยู่อันดับ 1 ในใจของผู้บริโภคก็คือสินค้าของพวกเขา มีลวดลายที่เฉพาะ ไม่ซ้ำกัน บางลวดลายมีแค่ชิ้นเดียวในโลก เพราะแบบนี้เองทำให้ผู้คนทั้งในบ้านเรา และต่างประเทศ ให้ความสนใจกับแบรนด์ Freitag เพราะนอกจากจะใช้ได้จริงในชีวิต มีความทันสมัย ไม่ตกยุค และยังช่วยลดขยะอีกด้วย
3. #Mosameat (ธุรกิจอาหารทดแทน)
จากวิกฤตโลกร้อน และพฤติกรรมการบริโภคเกินพอดี ทำให้เกิดปัญหาความขาดแคลนอาหารในหลาย ๆ ประเทศ จนทำให้หลายคนตระหนักว่าถ้ายังเป็นแบบนี้อยู่อาจทำให้เกิดปัญหาความอดอยากในระดับโลกเลยมีบริษัทสตาร์ทอัพที่ชื่อว่า Mosameat ที่ทำธุรกิจด้านอาหารที่เกิดจากการปลูกถ่ายเนื้อในห้องทดลอง เพื่อช่วยลดปัญหาการขาดแคลนเรื่องอาหาร และยังช่วยลดแก๊สเรือนกระจก จากปัญหาการทำปศุสัตว์ จากเดิมที่เราจะต้องเลี้ยงสัตว์ ใช้เวลานานและต้องใช้เงินลงทุนมากเพื่อที่จะได้รับวัตถุดิบที่มีคุณภาพ แต่เทคโนโลยีอาหารแบบทดแทนนี้จะมาช่วยแก้ปัญหาตั้งแต่ปัญหาวัตถุดิบอาหารที่มีราคาแพง และไม่เพียงพอต่อความต้องการของประชากรที่มีอัตราการเกิดสูง และมีอายุเฉลี่ยที่ยืนยาวขึ้นกว่าในอดีต และข้อดีของเนื้อสัตว์ทดแทนจากห้องแล็บเราก็จะได้เนื้อที่ไม่มีพยาธิ ไม่มีเชื้อโรค ไร้สารตกค้าง ที่ทำให้เกิดปัญหาสุขภาพเหมือนกับเนื้อสัตว์ปกติ ถึงแม้ธุรกิจอาหารทดแทนในตอนนี้ยังอยู่ในช่วงของการพัฒนา แต่เชื่อได้เลยว่าในอนาคตอีกไม่กี่ปีต่อจากนี้ ปัญหาการขาดแคลนอาหารจากความต้องการที่มากขึ้น และปัญหาโลกร้อนจากแก๊สเรือนกระจกที่ส่งผลต่อโลกจะต้องหมดสิ้นไป ด้วยธุรกิจประเภทอาหารทดแทน
4. #Happi (ธุรกิจเพื่อลดปัญหาขยะย่อยสลายยาก)
ปัญหาของผู้หญิงที่ต้องพบเจอทุกเดือนอย่างการต้องใช้ผ้าอนามัยจำนวนมากก็เป็นอีกสาเหตุหนึ่งของการเพิ่มขยะ ส่งผลในเรื่องของสิ่งแวดล้อมที่ทุกวันนี้เราต้องเผชิญกับขยะบางประเภทที่ไม่สามารถกำจัดได้โดยการย่อยสลาย และนอกจากเรื่องของสิ่งแวดล้อมการเปลี่ยนผ้าอนามัยบ่อย ๆ ทำให้เกิดปัญหาค่าใช้จ่ายที่มากขึ้น ในยุคที่เศรษฐกิจกำลังชะลอตัวแบบนี้ จากปัญหาเหล่านี้ได้มีบริษัทของคนไทยที่ชื่อว่า Happi ได้สร้างสรรค์นวัตกรรม ถ้วยอนามัย เพื่อลดการใช้ผ้าอนามัยที่มีปริมาณการใช้จำนวนมากในแต่ละเดือน เพราะถ้วยอนามัยนี้สามารถนำกลับมาใช้ใหม่ได้เรื่อย ๆ และมีอายุเฉลี่ยของสินค้าที่สูงถึง 10 ปี และนอกจากจะช่วยเรื่องสิ่งแวดล้อมจากปัญหาการทิ้งผ้าอนามัยแล้ว ถ้วยอนามัยยังเป็นผลิตภัณฑ์ที่ช่วยเพิ่มความมั่นใจให้กับสาว ๆ ในการใช้ชีวิตประจำวันได้อย่างเต็มที่ในขณะที่มีประจำเดือน เช่น การว่ายน้ำ หรือการออกกำลังกาย เพราะเทรนด์ธุรกิจในตอนนี้การแก้ปัญหาสังคมก็จะช่วยลด
ผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นโดยตรงกับสิ่งแวดล้อมได้ สำหรับปัญหาขยะที่ย่อยสลายยาก ในประเภทอื่น ๆ นอกจากนี้ อาจต้องใช้นวัตกรรม และการเข้าใจปัญหาของสังคม เพื่อช่วยให้สิ่งแวดล้อมของโลกเราเกิดการเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีขึ้นอย่างแน่นอน
.
5. #P&G (ธุรกิจเพื่อแก้ปัญหามลพิษในน้ำ)
บนโลกของเรามีผู้คนจำนวนหลักหลายล้านคนที่ไม่มีโอกาสเข้าถึงการดื่มน้ำสะอาด และในทุกวันมีคนมากถึง 1,000 คนต้องเสียชีวิตเพราะโรคร้ายที่มากับน้ำ เพราะปัญหามลพิษที่แพร่กระจายไปในสิ่งแวดล้อมทำให้ผู้คนมีโอกาสที่มีสุขภาพดีจากการดื่มน้ำสะอาดน้อยลงทุกที แต่จากปัญหาเหล่านี้บริษัท P&G ยักษ์ใหญ่ด้านสินค้าอุปโภคบริโภคเลยสร้างสรรค์นวัตกรรมที่ชื่อว่า Purifier of Water ผงเปลี่ยนน้ำให้สะอาด ที่จะเปลี่ยนน้ำที่ปนเปื้อนไปด้วยมลพิษต่าง ๆ ให้สะอาดขึ้นจนอยู่ในระดับที่เราสามารถดื่มได้ เหมือนกับดื่มน้ำขวดที่หลายคนซื้อมาได้เลย โดยต้นทุนเฉลี่ยอยู่ที่เพียงแค่ซองละ 3 บาทเท่านั้นเอง จากการคิดค้นนวัตกรรมนี้ได้เปลี่ยนแปลงการใช้ชีวิตของผู้คนมากมาย หลายคนรอดพ้นจากการเสียชีวิตจากโรคท้องร่วง และหลายคนได้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น และในประเทศไทยตอนนี้หลายจังหวัดก็ต้องพบกับปัญหาน้ำประปาไม่สามารถดื่มได้ เนื่องจากปัญหาความเค็ม นวัตกรรมนี้อาจช่วยเหลือพวกเราให้สามารถเข้าถึงน้ำสะอาด โดยการเปลี่ยนน้ำสกปรกให้กลับมาดื่มได้ โดยไม่ต้องพึ่งพาการซื้อน้ำขวดในราคาแพงอีกต่อไป
ขอบคุณที่มา : เพจ krungsriguru
Leave A Comment