วันเเรงงานแห่งชาติ

“แม้จะแตกต่างทางหน้าที่ แต่ทุกหน้าที่ล้วนมีความสำคัญ” ทราบกันดีอยู่แล้วว่า “วันแรงงานแห่งชาติ” ของประเทศไทย ตรงกับวันที่ 1 พฤษภาคมของทุกปี ซึ่งในต่างประเทศนั้นมีวันแรงงานมานานแล้ว โดยเรียกว่า วันเมย์เดย์ (May Day) แล้วทำไมทั่วโลกจึงต้องมีวันแรงงานนี้เกิดขึ้นมา มีความเป็นมาและมีความสำคัญอย่างไร ไปหาคำตอบกัน

ในประเทศไทยเมื่ออุตสาหกรรมได้ขยายตัวขึ้น ผู้ใช้แรงงานก็มีปัญหามากขึ้น รวมทั้งปัญหาแรงงานก็มีความสลับซับซ้อนยิ่งขึ้น จนทำให้ในปี พ.ศ. 2475 ประเทศไทยก็ได้เริ่มมีการจัดการบริหารแรงงานซึ่งเป็นการจัดสรรและพัฒนาแรงงานรวมถึงคุ้มครองดูแลสภาพการทำงาน เพื่อสร้างรากฐานและส่งเสริมความสัมพันธ์ระหว่างนายจ้างกับลูกจ้าง

ปี พ.ศ. 2499 คณะกรรมการการจัดงานที่ระลึกแรงงาน ได้จัดประชุมขึ้นพร้อมทั้งมีความเห็นตรงกันว่าควรกำหนดให้วันที่ 1 พฤษภาคม เป็นวันระลึกถึงแรงงานไทย จึงได้มีหนังสือถึงนายกรัฐมนตรีขอให้รับรองวันที่ 1 พฤษภาคม จนเป็นที่มาของ “วันกรรมกรแห่งชาติ”

ปี พ.ศ. 2500 ได้เปลี่ยนเป็นวันแรงงานแห่งชาติ และได้มีการประกาศใช้พระราชบัญญัติกำหนดวิธีระงับข้อพิพาทแรงงาน ซึ่งได้กำหนดให้ลูกจ้างมีสิทธิ์หยุดงานในวันแรงงานแห่งชาติด้วย แต่พระราชบัญญัติฉบับดังกล่าวก็มีอายุเพียงแค่ 18 เดือนก็ถูกยกเลิกไป โดยมีประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 19 มาแทนที่ มีการให้อำนาจกระทรวงมหาดไทยออกประกาศกำหนดเรื่องการคุ้มครองแรงงาน โดยกำหนดให้วันกรรมกรแห่งชาติเป็นวันหยุดตามประเพณี เพื่อเตือนนายจ้างให้ลูกจ้างหยุดงานในวันที่ 1 พฤษภาคม แต่ไม่ให้มีการเฉลิมฉลองเพื่อความสงบเรียบร้อยของบ้านเมือง

ต่อมาในปี พ.ศ. 2517 จึงได้เปิดให้มีการฉลองตามความสมควร จึงมอบให้กรมแรงงานที่ขณะนั้นสังกัดกระทรวงมหาดไทย จัดงานฉลอง “วันแรงงานแห่งชาติ” ที่สวนลุมพินี โดยจัดให้มีการทำบุญตักบาตร และแสดงนิทรรศการให้ความรู้แบบเรียบง่าย

ขอบคุณที่มา เว็บไซต์ hengleasing.com